ทำไม“ประหยัดพลังงาน” ช่วยชาติได้ ?
เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากการยกเลิกมาตรการคุมเข้มโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ จึงกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติอีกครั้งส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกสูงขึ้น ราคาพลังงานจึงขยับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย แต่แล้วความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ปะทุขึ้นเปรียบเสมือนมรสุมลูกใหญ่ที่ซัดเข้ามาซ้ำเติมวิกฤตด้านพลังงานโลกให้สั่นคลอนอีกระลอกหนึ่ง จนราคาพลังงานในตลาดโลกเกิดความผันผวนและมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทั้งน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากแหล่งพลังงานในประเทศมีไม่เพียงพอจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤตราคาพลังงานอย่างหนัก แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ไขปัญหา ปรับแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของประเทศเพื่อลดต้นทุน แต่บรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ภาครัฐผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนให้มาประหยัดพลังงานช่วยชาติฝ่าวิกฤตพลังงานอีกทางหนึ่ง ประหยัดพลังงานช่วยชาติ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาสูง การประหยัดพลังงานถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะได้ประโยชน์สูงสุดในการช่วยลดรายจ่ายของครอบครัว ขณะเดียวกันก็ส่งผลพลอยได้ทำให้ปริมาณการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศลดลงจึงช่วยลดความเสี่ยงในการขาดแคลนพลังงานของประเทศ ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (LNG) ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะภาคการผลิตไฟฟ้าที่ต้นทุนส่วนใหญ่คือค่าเชื้อเพลิงการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้านั้นจะเริ่มจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำสุดไปถึงโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงสุด ดังนั้นหากการใช้ไฟฟ้าลดลง การผลิตไฟฟ้าในระบบก็ไม่ต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีต้นทุนสูงในขณะนี้เข้ามาในระบบ ส่งผลให้ต้นทุนค่าเอฟทีในภาพรวมลดลงและเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้า ดังนั้นการช่วยประหยัดพลังงานคนไม้คนละมือของคนไทยทุกคนจึงเปรียบเสมือนการหยอดกระปุกออมสินที่ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและมีเสถียรภาพทางพลังงานเพิ่มขึ้น ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน เริ่มง่าย ๆ ได้ที่ตัวเรา การประหยัดพลังงานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติในยามที่เกิดวิกฤตพลังงาน เพราะเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนในประเทศสามารถปฏิบัติได้ อาทิ ปรับเปลี่ยนนิสัยที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน เช่น ปิดสวิตซ์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทันทีเมื่อเลิกใช้งาน ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้นหรือไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน ซักผ้าหรือรีดผ้าครั้งละมาก ๆลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็นและไม่ใส่ของแน่นตู้จนเกินไป เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงประหยัดไฟ โดยสังเกตจากฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว และดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานอยู่เสมอ […]