งานครบรอบ 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ สู่ปีแห่ง คน เครื่องจักร และระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

คลิป 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ   พิธีเปิด  เสวนา(1)  เสวนา(2)

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน “งานครบรอบ 20 ปี อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ สู่ปีแห่ง คน เครื่องจักร และระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” เปิดเผยว่า อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ แห่งนี้นับเป็นความภูมิใจของกระทรวงพลังงานในการเป็นต้นแบบอาคารด้านการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยแห่งแรก ๆ และเป็นอาคารสำหรับจัดฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์พลังงานให้กับบุคลากรของโรงงานและอาคารควบคุม และนอกข่ายควบคุม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มที่มีการใช้พลังงานสูง รวมถึงส่งเสริมการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยมาตรการด้านกฎหมาย การเงิน มาตรการจูงใจแล้ว ด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการจัดการพลังงานภายในองค์กรมายาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาคารแห่งนี้ได้สร้างคุณประโยชน์ทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนให้คนหลาย ๆ รุ่น รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและเผยแพร่ความสำเร็จด้านการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนการใช้พลังงานทดแทนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในภาคอุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ และครัวเรือน
 

“ขอชื่นชมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานทุกท่าน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการเผยแพร่องค์ความรู้ และข้อมูลทางวิชาการ ด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ภายใต้แนวคิด คนอัจฉริยะ (Smart People) เครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Machine) และระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart System) ซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญ ในการผลักดันให้ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน ทางด้านพลังงาน เพราะผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงานให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ที่นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ด้าน นายโสภณ มณีโชติ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติได้ถูกออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามแนวคิดการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีร่วมกับใช้หลักการธรรมชาติ แบบ Passive design คือ การออกแบบที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้วิธีการออกแบบที่ประหยัดพลังงาน และใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม เช่น การใช้แสงธรรมชาติ การใช้พื้นที่ให้เหมาะสม การใช้วัสดุที่เหมาะสม และการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษกลับสู่สิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องกลไฟฟ้าเพิ่มเติม การออกแบบ passive design จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานและเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งภายในอาคารใช้เป็นศูนย์แสดงเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานของภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย รวมถึงการแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน เช่น solar Rooftop เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ รวมแล้วมากกว่า 180,000 คน และมีผู้เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีพลังงานภายในศูนย์แสดงในภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย มากกว่า 124,000 คน
 
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาคารแห่งนี้ได้ผ่านมาตรฐานการจัดการพลังงาน ISO 50001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล เป็นแบบอย่างให้แก่โรงงานและอาคารควบคุมในการจัดการพลังงาน และนับเป็นอาคารภาครัฐกลุ่มแรกที่จะได้รับรองมาตรฐานนี้ โดยตลอดเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา พพ. ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความสามารถในการพัฒนาพลังงานของประเทศได้เป็นอย่างดี พพ. จึงได้มอบรางวัลให้กับสถานประกอบการที่มีผลการประหยัดพลังงานดีเด่น และได้ดำเนินการจัดส่งรายงานการจัดการพลังงานครบถ้วนตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 20 รางวัล โดยแบ่งเป็น สถานประกอบการประเภทโรงงาน จำนวน 13 รางวัล ได้แก่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 18 โรงฟีนอล , บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด , บริษัท เมโทร ปาร์ติเกิล จำกัด , บริษัท คิมเบอร์ลี่ย์-คล๊าค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด , บรัษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง , การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าวังน้อย , บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด โรงสูบน้ำบ้านค่าย (กิจการประปาระยอง)” , บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท โทเร เท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โรงงานที่ 1 , บริษัท เคมีแมน จำกัด , บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด โรงงานเขาวง , บริษัท ไทยเพิ่มพูนอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) และสถานประกอบการประเภทอาคาร จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ บริษัท พีแอนด์บีรัชดาโฮเต็ล จำกัด โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ , บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โรงพยาบาลกรุงเทพ , การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่คลองเตย , บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด (กิจการโรงฟัก) , บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด เทอร์มินอล 21 พัทยา , มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา , กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ และควอลิตี้เฮ้าส์ คิวเฮ้าส์ลุมพินี