รู้จัก CCUS เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนของวันนี้ ที่จะมาช่วยเปลี่ยนโลกในอนาคต

เทคโนโลยี CCUS มาจาก Carbon Capture Utilization and Storage เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ในอนาคต 

ดักจับ เพื่ออะไร ใช้ประโยชน์ได้มากมายจริงหรือ?

เนื่องจากปัจจุบัน สภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องสำคัญระดับโลกที่องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากภาคอุตสาหกรรม เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ซึ่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีเทคโนโลยี CCUS

เทคโนโลยีการดักจับ CO2 แล้วนำมากักเก็บไว้ในชั้นหินใต้ดินแบบถาวร (Carbon Capture and Storage: CCS) หรือใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (Carbon Capture and Utilization: CCU)  นับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการ CO2 ซึ่งเดิมถูกมองว่าเป็นมลพิษ โดยนำมาแปรรูปแล้วนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี ในการนำของเสียมาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางด้านการพาณิชย์ ในขณะเดียวกันยังเป็นการขจัดมลภาวะให้กับสภาพแวดล้อมอีกด้วย

แล้วประเทศไทย ใช้เทคโนโลยีนี้แพร่หลายแล้วหรือยัง?

ทวีปเอเชีย-แปซิฟิก มีการเร่งดำเนินการ และปรับใช้เทคโนโลยี CCUS นี้กับโรงงานขนาดใหญ่ที่เปิดดำเนินงาน กว่า 17 โรงงานในเอเชีย ที่ยังไม่รวมโรงงานขนาดเล็ก ส่วนในประเทศไทยเองนั้น  ตั้งแต่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา Conference of the Parties หรือ COP ว่า ในปี 2050 ไทยจะมุ่งสู่ Carbon Neutral หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ได้ทั้งหมด 100% และปี 2065 จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  ซึ่ง กฟผ. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้  มีการศึกษา วิจัย และร่วมมือกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น โครงการสนับสนุนทุนวิจัยให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ ในเรื่องของ Sink Co-creation การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่ และการศึกษาเทคโนโลยี CCUS และ Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1994 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน อาทิ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ เป็นต้น

โดยในปี 2023 นี้ กฟผ. มีแผนระยะยาวในการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (EGAT Carbon Capture, Utilization & Storage: CCUS) ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จ.ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ. ลำปาง รวมทั้งแผนปรับปรุงพื้นที่เหมืองแม่เมาะให้เป็นพื้นที่พลังงานสีเขียว ศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำแบบสูบกลับ และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เพื่อมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าให้เทคโนโลยี CCUS นี้ สามารถกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7.0 ล้านตัน ได้ในปี 2045

นอกเหนือจากเทคโนโลยีนี้  เราเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้ประเทศเราได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า รวมถึงรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ป่าบก ป่าชายเลน และแหล่งหญ้าทะเล  ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนอย่างเราทุกคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรักษาโลกของเราไว้ด้วยกัน

ที่มา : https://www.energynewscenter.com