ความแตกต่างระหว่างระบบขายไฟ Net Billing และ Net Metering

ตามมติ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้รับทราบผลการศึกษาเรื่อง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ระบบหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป (Net Metering) และเห็นชอบว่ายังไม่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย โดยให้คงการคิดค่าไฟฟ้าแบบ Net Billing ที่ให้ประชาชนนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือจากที่ผลิตได้ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เหตุผลหลักมาจากข้อจำกัดที่ยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าฐานภาษีที่จะรองรับวิธีคำนวณ รวมทั้งปัญหาด้านเทคนิคของระบบโครงข่ายไฟฟ้า และที่สำคัญคือ กระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ที่ต้องรับภาระจากต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้งได้

วันนี้จึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับระบบขายไฟฟ้าของโครงการ Solar Rooftop ที่กล่าวถึงทั้งระบบ Net Billing และระบบ Net Metering ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

Net Billing คือ ระบบการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้าสู่บ้าน กับ ค่าขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ให้การไฟฟ้า และนำเงินค่าขายไฟฟ้ามาหักลบกัน โดยหน่วยเครดิตซึ่งหมายถึงหน่วยเก็บสะสมไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจะอยู่ในรูปแบบ “หน่วยเงิน” ซึ่งราคารับซื้อไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายของภาครัฐ มีข้อดีด้านความยืดหยุ่นในการปรับราคาค่าไฟฟ้าที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ง่าย เป็นกลไกช่วยบริหารต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าของผู้ให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ

ระบบ Net Billing ราคาค่าไฟฟ้าที่ขายคืนเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าในหลายประเทศมักกำหนดให้ต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกของการไฟฟ้าซึ่งรวมถึงไทยด้วย ปัจจุบันอัตรารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบอยู่ที่ 2.20 บาท/หน่วย ขณะที่ราคาขายปลีกไฟฟ้างวดปัจจุบันรัฐบาลตรึงราคาอยู่ที่ 3.99 บาท/หน่วย

การใช้ระบบ Net Billing จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่เป็นมิเตอร์แบบดิจิทัล เพื่อให้มิเตอร์สามารถวัดปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าและไฟฟ้าที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแต่ละเวลา เพื่อนำมาคำนวณค่าไฟฟ้าสุทธิได้

Net Metering คือ ระบบคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ โดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ลบออกจากจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง เครดิตหรือหน่วยเก็บสะสมไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจึงอยู่ในรูปแบบของ “หน่วยไฟฟ้า” โดยสามารถหักกลบลบหน่วยได้ทันที ซึ่งทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน ณ เวลานั้น มูลค่าของไฟฟ้าก็ยังจะมีค่าเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า

ระบบ Net Metering อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเดิมที่เป็นจานหมุนเป็นระบบดิจิทัลก็ได้โดยมิเตอร์แบบจานหมุนสามารถหมุนได้ 2 ทิศทาง โดยขออนุญาตให้การไฟฟ้าปลดล็อกให้หมุนกลับทางได้

ข้อจำกัดของระบบ Net Metering ตามผลการศึกษาที่คณะรัฐมนตรีรับทราบมีทั้งเรื่อง ระเบียบและข้อกฎหมายที่ยังไม่มีรองรับ ปัญหาด้านเทคนิค โดยเฉพาะสร้างภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น กล่าวคือ หากยิ่งรับซื้อไฟฟ้าคืนในราคาสูงมากเทียบเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าขายให้ จะเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เป็นผู้มีรายได้น้อยไม่มีกำลังในการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา และบ้านที่ไม่สามารถติดตั้งได้ เนื่องจากการไฟฟ้าต้องรับซื้อคืนไฟฟ้าเข้าระบบในราคาแพงกว่าต้นทุนเฉลี่ยที่ผลิตได้ รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นระบบสำรองให้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้

อย่างไรก็ดี การใช้ระบบคิดค่าไฟฟ้าแบบ Net Billing และ Net Metering แม้จะมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป แต่หลักการสำคัญของระบบขายไฟฟ้าทั้งสองแบบ คือ มุ่งส่งเสริมการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นหลัก ไม่เน้นการผลิตเพื่อการขายไฟฟ้า โดยที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญที่จะต้องทำให้นโยบายที่เกี่ยวข้องเอื้อประโยชน์และเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบการ รวมถึงการไฟฟ้าด้วย