การเงินสำหรับธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainable Finance)

ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพประชาชน และระบบเศรษฐกิจทั่วโลก หลายประเทศให้ความใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จึงออกนโยบาย และแผนดำเนินการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (Net Zero Emission) ขณะที่ผู้บริโภค และธุรกิจก็หันมาใช้สินค้า และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินต่างๆ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน (Net Zero Transition) โดยได้ปรับตัวรองรับเทรนด์นี้โดยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่ยั่งยืน (Green and Sustainable Finance) ในรูปแบบต่างๆ เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas:  GHG) และเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้เร็วขึ้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม

องค์กร UN Environment Programme (UNEP) ได้กำหนด 5 แนวทางเพื่อใช้เป็นหลักการในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย (1) เสริมสร้างแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาตลาดในวงกว้างให้สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ (2) ควบคุมงบดุลสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น (3) ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงผ่านนโยบาย (4) เปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง และ (5) ยกระดับด้านการกำกับดูแล

 

รูปที่ 1 แนวทางในการใช้เครื่องมือทางการเงิน (Green Financing) เพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดย UN Environment Programme (UNEP)

ที่มา https://www.unep.org/regions/asia-and-pacific/regional-initiatives/supporting-resource-efficiency/green-financing

 

ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ริเริ่มนำร่อง เรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ (Green Finance) ขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ในเอกสารการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการจัดทำครั้งที่ 10 โดยได้ประเมิน 126 เมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินต่างๆ ทั่วโลก ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการเงินสีเขียว โดยวิเคราะห์จากความพร้อมปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านของแต่ละเมือง อันได้แก่ (1) ด้านความยั่งยืน (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านทรัพยากรมนุษย์ และ (4) ด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำการประเมินศักยภาพทางการแข่งขัน (Competitiveness) ของแต่ละเมืองเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียว โดยแต่ละด้านจะพิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ประกอบด้วยกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินสีเขียว ความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพการใช้ชีวิตของประชาชน
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ประกอบด้วยด้านโทรคมนาคม (ICT) ด้านขนส่ง ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนควบคู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ประกอบด้วยบุคลากรที่มีทักษะ ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น
  • ด้านการดำเนินธุรกิจ (Business) ประกอบด้วยความมั่นคงด้านการเมือง การบังคับใข้กฎหมาย การกำกับดูแล ด้านภาษี สภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ

จากผลการวิเคราะห์ประเมินปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านดังกล่าวข้างต้นพบว่า London ได้อันดับ 1 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความยั่งยืน ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับ 1 ในด้านการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ New York ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกในการประเมินทุกด้าน

รูปที่ 2 ผลการจัดอันดับ 15 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในด้านศักยภาพทางการแข่งขัน 4 ด้าน

ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf

 

จากการประเมินศักยภาพด้านการแข่งขันในภาพรวมในการศึกษา GGFI ครั้งที่ 10 พบว่า London ยังคงครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับสองในการศึกษาครั้งนี้ โดยทั้งสองเมืองมีลำดับไม่เปลี่ยนแปลงจากศึกษาครั้งที่ผ่านมา ตามด้วย New York ซึ่งขยับจากอันดับ 5 ในการศึกษาครั้งก่อน มาที่อันดับ 3 ในครั้งนี้

ใน 10 ลำดับแรก (Top 10) มีเมืองที่อยู่ในทวีปยุโรปติดอันดับมากถึง 6 เมือง ได้แก่ London, Amsterdam, Luxembourg, Geneva, Stockholm และ Copenhagen ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 3 เมือง ได้แก่ New York, San Francisco และ Los Angeles โดยออสเตรเลียติดอันดับ 1 เมือง คือ Sydney

รูปที่ 3 ผลการจัดอันดับ 10 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในปี 2566 จากการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ครั้งที่ 10

ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf

 

นอกจากนั้นจากผลการศึกษา GGFI ครั้งที่ 10 พบว่ามาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลกปรับดีขึ้น โดยใน 20 ลำดับแรก (Top 20) ประกอบด้วย 4 เมืองในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ Seoul (ลำดับที่ 12), Singapore (ลำดับที่ 16), Shanghai (ลำดับที่ 17) และ Shenzhen (ลำดับที่ 20) ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า 2 เมืองในจีนมีการปรับตัวดีขึ้นมาก จากการที่รัฐบาลจีนได้ยกระดับปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นวาระแห่งชาติ และลงมือแก้ไขตามแผนอย่างเข้มงวดจนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

 

รูปที่ 4 ผลการจัดอันดับ 20 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ครั้งที่ 10 เทียบกับครั้งที่ 9

ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf

 

สำหรับการจัดอันดับเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนในการศึกษาของ GGFI ครั้งที่ 10 พบว่า Singapore (ลำดับที่ 16), Kuala Lumpur (ลำดับที่ 46), Bangkok (ลำดับที่ 57) และ Jakarta (ลำดับที่ 60) โดยทุกเมืองในอาเซียนปรับตัวดีขึ้นและได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อน

จากการเปรียบเทียบคะแนนผลการดำเนินการเฉลี่ยของศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียวในแต่ละภูมิภาคพบว่ากลุ่มประเทศในยุโรปมีคะแนนสูงที่สุดในทุกการจัดอันดับของ GGFI ตั้งแต่ครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ตามด้วยทวีปอเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิค ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกันมาก โดยประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน และพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ ในอนาคต สำหรับประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา แคริเบียน ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในกลุ่มท้ายๆ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาให้มากขึ้นต่อไป

รูปที่ 5 เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของเมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในแต่ละภูมิภาคจากการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึง 10

ที่มา https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf

 

สำหรับการเงินสีเขียวในประเทศไทย ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีสัดส่วนที่น้อยมาก แต่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการของไทยเริ่มมีการปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัว และให้การสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้สินเชื่อสีเขียวกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น พลังน้ำ ลม ชีวภาพ และชีวมวล

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน คำนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว และการลงทุนสีเขียว จะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง รวมถึงแต่ละภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดสรรเงินทุนยังไม่ตรงจุดซึ่งอาจนำไปสู่การกล่าวอ้างเกินจริงว่ามีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว (Greenwashing) หรือการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับตัวโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Activities) ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) เพื่อให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน มีความเข้าใจตรงกัน และมีจุดยึดโยงให้นำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย วางแผนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของภาคธุรกิจได้อย่างมีมาตรฐาน และสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละภาคส่วนสามารถประเมินสถานะการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถวางแผนรองรับการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับบริบทของไทยได้อย่างเหมาะสม และทันการณ์

Thailand Taxonomy ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนก และจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย โดย Thailand Taxonomy จะกำหนดคำนิยาม คำอธิบาย เงื่อนไข และตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคู่มือให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ และประเมินได้ตรงกันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นมีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม หรือไม่ และอยู่ในระดับใด โดยการพัฒนา Thailand Taxonomy ได้คำนึงถึงบริบทของประเทศ และความสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ (Inter-operability) เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึง

Thailand Taxonomy สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ในภาคการเงินจะใช้เป็นแนวทางเพื่อออกตราสารทางการเงินสำหรับกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว

รูปที่ 6 ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Thailand Taxonomy

ที่มา https://www2.deloitte.com/th/en/pages/about-deloitte/articles/thailand-taxonomy-th.html

 

สำหรับการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน Thailand Taxonomy จะคำนึงถึง 2 มิติสำคัญ ได้แก่ วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ โดยในการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะเริ่มจากวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง Climate Change Mitigation ก่อน และจะครอบคลุมภาคพลังงาน และภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง

รูปที่ 7 โมเดลแสดงการประเมินกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยแบ่งออกเป็น 3 สี ตามสัญญาณไฟจราจร

ที่มา https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/th/Documents/about-deloitte/Thailand_Taxonomy_Section3_en.pdf

 

การจัดทำ Thailand Taxonomy ใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งการคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับตามระบบสัญญาณไฟจราจร (Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ดังนี้

  • สีเขียว (Green) หมายถึง กิจกรรมที่ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน
  • สีเหลือง (Amber) หมายถึง กิจกรรมที่ยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียง หรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปัจจุบันสามารถลดปัญหาได้บ้างแต่ยังสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได
  • สีแดง (Red) หมายถึง กิจกรรมที่ไม่สามารถถูกประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้  และไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับกิจกรรมในระดับสีเขียว หรือสีเหลือง

 

ที่มา : ฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bangkokbanksme.com/en/8sme3-guidelines-for-green-loans

https://www.bot.or.th/landscape/green/directions/taxonomy/

https://www.bot.or.th/Thai/SustainableBanking/Documents/Thailand_Taxonomy_phase_1.pdf

https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_10_Report_2022.10.27_v1.1.pdf

https://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/th/Documents/about-deloitte/Thailand_Taxonomy_Section3_en.pdf