โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ดีอย่างไร
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสภาวะที่อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น อันเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หลายฝ่ายพยายามหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ ในภาคพลังงานเอง ก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีของการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งพลังงานนิวเคลียร์ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนาในหลายประเทศ โดยเป็นการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของการผลิตไฟฟ้าที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor: SMR คืออะไร
โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น (Nuclear Fission) มาทำความร้อนและนำมาผลิตไอน้ำ และไอน้ำจะถูกนำไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้โรงไฟฟ้า SMR จะมีการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์เป็นรูปแบบโมดูล ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อโมดูล (เทียบเท่าประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบดั้งเดิม) โดยโมดูลนี้จะถูกผลิตและประกอบสำเร็จจากโรงงาน ทำให้ติดตั้งได้รวดเร็ว
เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้า SMR มีการพัฒนาขึ้น มีการลดความซับซ้อนของระบบ และทำให้ระบบมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งลดปริมาณท่อและข้อต่อต่าง ๆ ช่วยให้ลดโอกาสเกิดการรั่วไหลของน้ำหรือสารระบายความร้อน รวมทั้งมีการออกแบบระบบให้ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือพนักงานเดินเครื่องควบคุมมากนัก แต่ใช้หลักธรรมชาติช่วยในการทำงานของระบบ เช่น แรงโน้มถ่วง เป็นต้น นอกจากนี้เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีขนาดเล็กทำให้รัศมีของการปล่อยกัมมันตรังสีเมื่อเกิดการรั่วไหลมีรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตร ซึ่งต่างจากรัศมีของการปล่อยกัมมันตรังสีเมื่อเกิดการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่อาจมีรัศมีถึง 16 กิโลเมตรได้
รูปที่ 1 ความแตกต่างของระบบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมกับระบบของโรงไฟฟ้า SMR
ที่มา : https://www.egat.co.th/home/20240930-art01/
เปรียบเทียบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิมกับโรงไฟฟ้า SMR
ข้อดี ข้อเสียของโรงไฟฟ้า SMR
ข้อดีของโรงไฟฟ้า SMR
1. มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากการออกแบบให้มีระบบความปลอดภัยที่ทันสมัยและมีความสามารถในการระบายความร้อนที่ดี แม้ในกรณีที่ระบบมีปัญหา ก็สามารถป้องกันการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ดี
2. มีขนาดเล็กและมีความยืดหยุ่น เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป ทำให้สามารถติดตั้งได้ในพื้นที่จำกัด เช่น บนพื้นที่ที่มีการพัฒนาแล้ว หรือในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งพลังงานอื่นๆ
3. ไม่ปล่อยมลพิษในรูปแบบ CO2 หรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
4. การลงทุนต่ำ ด้วยขนาดที่เล็กและการผลิตในรูปแบบโมดูลาร์ ทำให้การลงทุนในการก่อสร้างและการเริ่มต้นมีต้นทุนต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่
5. ลดปริมาณการเกิดกากกัมมันตรังสี เนื่องจากโรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กทำให้ใช้เชื้องเพลิงน้อยตามไปด้วย
ข้อจำกัดของโรงไฟฟ้า SMR
1. ยังต้องให้ความรู้เพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มักจะถูกต่อต้านจากสาธารณชนเนื่องจากความกลัวต่ออันตรายจากรังสีและเหตุการณ์ เช่น อุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่
2. นโยบายด้านพลังงานของประเทศสนับสนุนการใช้แหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นในการผลิตไฟฟ้ามากกว่าพลังงานนิวเคลียร์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมถึงพลังงานน้ำ
รูปที่ 2 รูปจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (โรงไฟฟ้า SMR)
ที่มา : https://www.greennetworkthailand.com/smr-nuclear-power-plant/
สรุป
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ โรงไฟฟ้า SMR เป็นแนวทางหนึ่งที่มีการพัฒนาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โรงไฟฟ้า SMR นี้ ยังคงเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชั่น แต่มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และจากขนาดที่เล็กลงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า SMR มีประมาณ 1 ใน 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม และเพราะขนาดโรงไฟฟ้าที่เล็กลงนี้เอง ก็ทำให้ต้นทุนและระยะเวลาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็ลดลงด้วย และโรงไฟฟ้า SMR นี้ ก็ได้รับการพัฒนาให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น นอกจากนี้การที่โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่มากนักทำให้พื้นที่ที่ต้องจัดทำแผนฉุกเฉินก็มีรัศมี (ประมาณ 1 กิโลเมตร) น้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบดั้งเดิม (ประมาณ 16 กิโลเมตร) แต่อย่างไรก็ตามการที่จะมีโรงไฟฟ้า SMR เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและสังคมเพื่อให้โรงไฟฟ้า SMR ได้รับการยอมรับและสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ที่มา : https://www.eppo.go.th