ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) หรือ CO2 ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อน ถูกปลดปล่อยออกมาจากกิจกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกาแฟที่เราดื่ม รองเท้าที่เราใส่ รถยนต์ที่เราขับ รวมถึงบ้านที่อยู่อาศัย แต่นับเป็นเรื่องดีที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถดักจับ CO2 มารีไซเคิลได้หลากหลายวิธี และนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกด้วย
การดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อย CO2 จากอุตสาหกรรมที่ขจัดก๊าซคาร์บอนฯ ได้ยาก โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพเพียงพอที่จะกักเก็บ CO2 ได้ถึง 300,000 ล้านตัน* แต่บางเทคโนโลยีซึ่งกำลังอยู่ในขั้นแรกของการพัฒนา ได้ก้าวไปถึงขั้นการนำ CO2 กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าการกักเก็บเอาไว้เฉยๆ โดย CO2 ทั่วโลกราว 230 ล้านตัน** จะถูกนำกลับมาใช้ทุกปีในรูปแบบต่างๆ ถึง 7 วิธี ดังนี้
1. ด้านอาหารและเครื่องดื่ม สามารถใช้ CO2 เพื่อขจัดคาเฟอีนออกโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติของกาแฟ ซึ่ง CO2 ที่ดักจับมาได้ อาจใช้เติมฟองในเครื่องดื่มอย่างโซดาและเบียร์ และอาจใช้ช่วยป้องกันไม่ให้ไวน์เสีย หรือเพื่อรักษาความสดของอาหารสำเร็จรูปบรรจุห่อได้ด้วย
2. ด้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ โดย CO2 ที่ดักจับมา สามารถใช้ทำเสื้อผ้า แว่นกันแดด รองเท้า และเครื่องประดับได้หลากหลาย เช่น สร้อยข้อมือและฝาครอบป้องกันโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการทำหนังเทียมประเภทต่างๆ
3. ด้านเฟอร์นิเจอร์ โดย CO2 สามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ ไปจนถึงโซฟานั่งเล่น ที่นอน และหมอน ซึ่ง CO2 ที่ดักจับมาสามารถทำการเปลี่ยนสภาพไปเป็นโพลีออล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในพลาสติกโพลียูรีเทนและโฟมชนิดต่างๆ นั่นเอง
4. ด้านวัสดุก่อสร้าง โดย CO2 ที่ดักจับมาสามารถนำไปใช้ทำคอนกรีต อิฐ ซีเมนต์และกระจกนิรภัยชนิดแตกแล้วไม่ละเอียด เป็นต้น นอกจากนั้น คอนกรีตที่มาจาก CO2 จะมีราคาถูกกว่าคอนกรีตแบบเดิมและมีประสิทธิภาพการใช้งานดีกว่า
5. ด้านการเกษตร สามารถเปลี่ยน CO2 ประมาณ 125 ล้านตันต่อปี ให้เป็นยูเรีย ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญในปุ๋ยชนิดต่างๆ
6. ด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน อาจใช้ CO2 ที่ดักจับมาได้ นำมากลั่นและเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เริ่มเปลี่ยน CO2 ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว นอกจากนี้ CO2 ยังสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงแห่งอนาคตอย่างไฮโดรเจนด้วย เพราะช่วยเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยาน
7. ด้านการแพทย์ CO2 ที่ดักจับมาได้ สามารถนำมาใช้ในตัวทำละลายสำหรับอุตสาหกรรมยา ซึ่งจะช่วยแยกและทำให้ผลิตภัณฑ์มีความบริสุทธิ์ตามต้องการ นอกจากนี้ CO2 ที่ดักจับมายังสามารถใช้งานในกระบวนการทำให้แตกตัวด้วยน้ำ เพื่อใช้ทำแอลกอฮอล์สำหรับเปลี่ยนเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และมีผลพลอยได้ คือ ออกซิเจน อีกด้วย
ดังนั้น ยิ่งเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลให้การใช้งาน CO2 ที่ดักจับมาได้เติบโตมากขึ้นไปด้วย และนับเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับอนาคต ที่จะทำให้โลกเรามีคาร์บอนต่ำลงและแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
** อ้างอิงจาก www.iea.org/reports/putting-co2-to-use
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Energy Factor by ExxonMobil
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารด้านนวัตกรรมพลังงานได้จากเว็บไซต์ energyfactor.exxonmobil.asia/th/