การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการมองหา “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5”ก่อน เพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีว่าสินค้าได้มาตรฐานการประหยัดไฟฟ้าจริง โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทำฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ขึ้นมา และเมื่อต้นปี 2562 เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้นและส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ประหยัดไฟฟ้าสูง จึงได้ปรับรูปแบบ เป็น “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว” ยิ่งมีดาวมาก ยิ่งประหยัดพลังงานสูง ปัจจุบัน มี 4 ระดับ ได้แก่ เบอร์ 5, เบอร์ 5 ★, เบอร์ 5 ★★ และเบอร์ 5 ★★★ แต่ละระดับสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 – 10% ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ง่ายกว่าเดิม
การมีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นเครื่องมือช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ ขณะเดียวกันผู้ผลิตและนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็จะเลือกผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดไฟฟ้ามาขายในราคาที่เหมาะสม รวมทั้งในอนาคตจะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ด้านการประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น นำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกอีกด้วย
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มี 21 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็น, พัดลมไฟฟ้า, หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์, กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า, เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้า, เตารีดไฟฟ้า, เครื่องซักผ้า, หลอด LED, เตาไมโครเวฟ, เตาไฟฟ้าแบบเหนี่ยวนำ, กาต้มน้ำไฟฟ้า, ตู้แช่เย็นแสดงสินค้า, เครื่องรับโทรทัศน์, กระทะไฟฟ้า, เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ, ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค, ข้าวกล้อง, เสื้อผ้าและผ้าเบอร์ 5 และจักรยานยนต์ไฟฟ้า และในต้นปี 2564 เครื่องฟอกอากาศจะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เบอร์ 5
แต่นอกจากการประหยัดไฟฟ้าแล้ว ล่าสุดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปอีกขั้น สู่การใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งการแสดงสัญลักษณ์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หรือก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาสู่การผนวกรวมแนวคิด Circular Economy เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ก็คือ ระบบเศรษฐกิจที่ต้องการหมุนเวียนนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนเกิดเป็นวงจรตั้งแต่ การผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการของเสีย นำไปสู่ความยั่งยืน แบบวงจรไม่รู้จบ แทนการผลิต-ใช้-ทิ้ง แต่การจะทำเช่นนี้ได้ ที่สำคัญต้องมีไอเดีย นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อน
ในปี 2563 นี้ กฟผ. ได้จัดประชุมร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อหารือแนวทางส่งเสริม Circular Economy ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เช่น กำหนดชิ้นส่วน หรือ ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ที่ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำหรือนำกลับไปแปรรูปใช้ใหม่ ว่าต้องมีสัดส่วนหรือจำนวน ร้อยละรวมกันอย่างน้อยเท่าไหร่โดยน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ มีการแสดงสัญลักษณ์บ่งบอกประเภทพลาสติกเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการซากต่อไป และมีการออกแบบตามหลักการ 3R (Reduce Reuse and Recycle) เป็นต้น สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ด้าน Circular Economy ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จะต้องมีการเตรียมความพร้อมและหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการต่อไป
นอกจากนี้ กฟผ. ได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบถูกวิธี และยั่งยืน สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) และ กฟผ. ได้เปิดตัวโครงการ “ศึกษาวิจัยจำลองกระบวนการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งกำหนดประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญไว้ 5 ประเภท ได้แก่ 1) คอมพิวเตอร์ 2) เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย 3) เครื่องปรับอากาศ 4) เครื่องรับโทรทัศน์ 5) ตู้เย็น มีระยะเวลาดำเนินโครงการวิจัย 15 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 –พฤศจิกายน 2564 ใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดบุรีรัมย์